ประเทศไทยกับการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ

       องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2488 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงแห่งประชาคมโลก ได้รับการยอมรับให้มีบทบาทในการยุติความขัดแย้งด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าปฏิบัติการ เพื่อสันติภาพในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งประเทศไทย มีความรับผิดชอบตามพันธกรณีในฐานะชาติสมาชิกที่จะต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนภารกิจ ของสหประชาชาติตามขีดความสามารถ นอกจากนี้เพื่อเป็นการแสดงพันธสัญญา ในการสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว ประเทศไทยยังได้เข้าเป็นสมาชิกในระบบกองกำลังเตรียมพร้อมของสหประชาชาติ (United Nations Standby Arrangement System: UNSAS) ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

บทบาทของกองทัพไทยกับการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

       ตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ.2489 กองทัพไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยงานหนึ่งของประเทศ ได้มีบทบาทในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพทั้งภายใต้กรอบสหประชาชาติ และกรอบภาคีร่วมกับประเทศพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กองทัพไทยยังได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยในหลายประเทศ โดยการปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญและได้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของของกองทัพฯ ซึ่งกำหนดไว้ในนโยบายตามลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับกระทรวงกลาโหม ลงมาจนถึงระดับกองทัพไทย
        จนถึงปัจจุบันนี้ประเทศไทย โดยกองทัพไทย ได้มีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วม และการส่งกำลังพลเข้าปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ และการช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรม โดยเข้าร่วมในภารกิจภายใต้อาณัติของสหประชาชาติจำนวน ๑๑ ภารกิจ นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมในภารกิจ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของสหประชาชาติ โดยเป็นการปฏิบัติภายใต้กรอบภาคีร่วมกับประเทศพันธมิตร ซึ่งมุ่งเน้นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก อีก 5 ภารกิจ

ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

       นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ในการปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคงภายใน และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กองทัพไทยถือเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์สูงสุด ของชาติ ด้วยเหตุนี้ กองทัพฯ จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงทำให้กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งมีหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการกองทัพ ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดหน่วย และได้จัดตั้ง “กองปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร” ขึ้นมา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2543 ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้หน้าที่หลักของกองฯ คือ กำกับดูแล ประสานงาน และช่วยเหลือในการจัดส่งกำลังเข้าร่วมในภารกิจการรักษาสันติภาพ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายนอกประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นกองบัญชาการส่วนหลัง สนับสนุนการดำเนินภารกิจที่มีอยู่

       จากสถานการณ์ความขัดแย้งขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ กองปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ จึงได้รับการขยายโครงสร้างการจัดหน่วยให้เป็น “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีนายทหารชั้นยศ พลตรี หรือเทียบเท่า เป็นผู้บังคับหน่วย ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ มีหน่วยขึ้นตรงทั้งสิ้น 3 กอง 1 แผนก ได้แก่ กองปฏิบัติการ กองการฝึกและศึกษา กองแผนและโครงการ และแผนกธุรการ



       ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร (ศสภ.ยก.ทหาร) เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมยุทธการทหาร ในกองบัญชาการกองทัพไทย มีสถานภาพเป็นทั้งหน่วยฝ่ายอำนวยการ และหน่วยสนับสนุนการปฏิบัติของกองทัพไทย มีบทบาทหน้าที่และภารกิจหลัก 4 ประการ ดังนี้
      1. เป็นศูนย์ฝึกการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพนานาชาติของกองทัพไทย และในระดับภูมิภาค
      2. เป็นฝ่ายอำนวยการด้านการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ
      3. เป็นศูนย์กลางวิทยาการด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ
      4. เป็นศูนย์การบังคับบัญชาในสายการบังคับบัญชาของชาติ (chain of national command) ให้แก่กำลังที่เข้าปฏิบัติภารกิจการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในภูมิภาคต่างๆ

อาคารศูนย์สันติภาพ จอมทัพไทย ๖๐ ปี กรมยุทธการทหาร

       นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ในการปกป้องและรักษาอธิปไตยของชาติ รักษาความมั่นคงภายใน และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กองทัพไทยถือเป็นทรัพยากรส่วนหนึ่งของชาติในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์สูงสุด ของชาติ ด้วยเหตุนี้ กองทัพฯ จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงทำให้กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งมีหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการกองทัพ ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดหน่วย และได้จัดตั้ง “กองปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร” ขึ้นมา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2543 ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้หน้าที่หลักของกองฯ คือ กำกับดูแล ประสานงาน และช่วยเหลือในการจัดส่งกำลังเข้าร่วมในภารกิจการรักษาสันติภาพ และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายนอกประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นกองบัญชาการส่วนหลัง สนับสนุนการดำเนินภารกิจที่มีอยู่

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานนามอาคาร “ศูนย์สันติภาพ จอมทัพไทย 60 ปี” และทรงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญตราสัญลักษณ์ การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ประดิษฐานเหนือนามอาคาร ตัวอาคารประกอบไปด้วยสำนักงานศูนย์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย และจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ เหมาะสำหรับจัดการฝึกหลักสูตร สัมมนา และการประชุมที่เกี่ยวข้อง